[เปิดกรุผีไทย] โดย ครูเหม เวชกร เรื่อง ภาพปั้นเป็นเหตุ
มีอีกเรื่องแล้วครับท่านผู้อ่านที่เคารพรัก ความจริงมันก็ไม่แปลก แต่มันก็เกิดแปลกขึ้นอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ เรื่องนายมั่นของเรานั่นแหละครับ
นายมั่นช่างหล่อพระนั่นแหละ ขาประจำคุยของเราอยู่บ้านขมิ้น แต่เกือบไม่ได้อยู่บ้าน ส่วนมากมาชุมนุมกันที่วัดระฆังนี่แหละ กุฏิคุณนพเป็นแดน บัดนี้นายมั่นไปรับจ้างเขาหล่อรูป แต่เป็นรูปคนธรรมดา ไม่ใช่รูปพระอย่างที่เคยรับจ้าง จึงคิดมีเรื่องแปลกขึ้นถึงกับต้องมาเล่าให้เราฟัง
เรื่องมันมีอยู่ว่า ตระกูลหนึ่งเป็นเศรษฐีเก่า บ้านอยู่ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ฟากธนบุรี บ้านนั้นเป็นตึกแบบเก่าๆ บ้านอยู่ทางจะไปบางยี่ขัน ท่านเศรษฐีนี้ได้สิ้นชีพลง สมบัติทั้งหมดได้แบ่งกันไปเป็นที่เรียบร้อยในวงศ์ลูกและหลาน ซึ่งสมบัตินั้นมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน
แต่ตึกแบบเก่าอยู่ชายน้ำที่ว่านี้ได้ตกเป็นมรดกของลูกชายคนใหญ่คือ คุณอำนาจ และคุณอำนาจผู้นี้เป็นผู้มีกตัญญูในบิดามารดาอย่างเคร่งครัด มีความรู้สึกแก่ตัวเองว่าได้มีหลักฐานร่ำรวยมานี้ก็เพราะบิดามารดา จึงคิดจะทำอะไรเป็นที่ระลึกเตือนใจมิให้เสื่อมคลายลงได้
ในเรื่องความกตัญญูรู้คุณนี้ จึงเกิดคิดสร้างภาพปั้นของบิดาขึ้นเพื่อติดตั้งไว้ในบ้านเป็นอนุสาวรีย์เสียเลย จึงได้ตกลงกับช่างปั้นให้ปั้นภาพบิดาขึ้นโดยเร็วทันใจ ให้ทันกับเวลาที่ร่างกายของบิดายังใส่โลง และสวดพระธรรมอยู่ตามกำหนดทุกเจ็ดวัน ให้รูปปั้นรีบมาแทนตัวจริงที่เน่าไปแล้ว
ชั้นแรกขอให้ปั้นด้วยปูนก่อนแล้วจะหล่อเป็นทองแดงคราวหลัง เมื่อลงมือสร้างตึกใหม่ในเวลาเผาศพไปแล้ว และภาพปั้นนั้นก็แล้วทันใจที่ตั้งไว้ โดยภาพนั้นโตเท่าตัวจริงๆ ของบิดา นำเข้าตั้งบนฐานตั้งในห้องโถงที่ตั้งศพนั้นเอง จึงเกิดมีการบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียนต่อรูปปั้นเป็นประจำวัน ทั้งพวงหรีดและดอกไม้สดไม่ขาดที่
มีเพื่อนๆ ของคุณอำนาจพูดเตือนว่าการปั้นรูปพ่อของตัวในส่วนสัดเท่าตัวจริงนี้ ในระยะเวลาที่ศพพ่อยังอยู่กับบ้านนี้นั้นไม่เหมาะแก่การ ควรจะปั้นเพียงครึ่งตัวเท่านั้น แต่ขนาดนั้นเล่าจะโตกว่าตัวจริงก็ได้ เล็กกว่าตัวจริงก็ได้ การปั้นเต็มตัวและขนาดเท่าคนจริงๆ นี้จะทำให้เกิดหวั่นหวาด จะกลายเป็นที่สะเทือนใจไปในทางผีๆ สางๆ มองไปพบเมื่อใดก็สะดุ้งสะเทือนทุกครั้ง ลงท้ายคนจะกลัวและไม่กล้าเข้าใกล้ภาพนั้น
คุณอำนาจเป็นคนทำอะไรแล้วไม่ถอยหลัง ก็ตอบเพื่อนว่า ตอนแรกทำไมไม่เตือนเสียก่อน ที่เตือนนี้ก็ขอบใจมาก แต่การทำอะไรลงไปแล้วต้องล้มเลิก คุณอำนาจถือว่าเป็นนิมิตไม่ดี เป็นคนท้อถอย จะทำสิ่งใดการใดย่อมไม่สำเร็จ และข้อสำคัญภาพนั้นได้รับการสักการะบูชาแล้วจะหยุดเลิกเสียมิได้เป็นอันขาด ที่ร้ายที่สุดคือเท่ากับทำลายพ่อของตัวเอง แม้แต่จะเป็นเพียงภาพจำลอง หรืออีกนัยหนึ่ง เกิดจะมากลัวพ่อของตัวเอง ก็ไม่ใช่ลูกกตัญญูจะควรทำ เมื่อเพื่อนๆ ได้ยินคุณอำนาจพูดดังนั้นก็เลิกเตือนกัน
ภาพปั้นคงยืนตระหง่านในห้องโถงนั้นเรื่อยมา ในลักษณะสง่าผ่าเผยของคุณปู่คุณตาคุณพ่อ ในวันต่อมาก็เกิดความผันแปรขึ้นในบ้านนั้น คือแต่เดิมทีเดียวพวกลูกพวกหลานเอาดอกไม้และธูปเทียนมาบูชาศพ แล้วก็มักจะนั่งเล่นกันอย่างสบายใจในห้องศพคุณปู่คุณตา เพราะถือว่าศพคุณปู่คุณตาในโลงนั้นเป็นที่อบอุ่นแก่บ้านและตระกูล แต่ครั้นภาพปั้นเข้ามายืนอยู่ในนั้น ต่างคนก็เอาดอกไม้ไปบูชาที่ภาพนั้น
พอนานวันเข้าผู้ที่เข้าไปบูชาแล้วก็รีบออกพ้นห้องไป เพราะทุกคนไม่กล้ามองดูหน้าของภาพนั้นเลย แอบบ่นกันว่าภาพปั้นนั้นช่างเหมือนผู้ตายจริงๆ คล้ายๆ ผู้ตายมายืนอยู่แท้ๆ และหน้าที่เหมือนผู้ตายนั้นแทบจะยิ้มออกมาได้จริงๆ บางคราวคล้ายจะมองดูผู้เข้าไปในห้องนั้นด้วยดวงตาของคนแท้ๆ บางคนถึงกับสะดุ้งหลบสายตาของภาพนั้นโดยเร็ว แต่ไม่กล้าจะพูดกันว่าอย่างไร เพราะนั่นคือภาพของคุณพ่อคุณปู่คุณตาผู้บังเกิดเกล้า แต่เป็นเรื่องน่าประหลาดนัก ที่คุณอำนาจไม่เคยพบความวิปริตอย่างที่คนอื่นพบเลย และคนอื่นที่พบแล้วก็ไม่กล้าพูดให้คุณอำนาจฟัง เกรงว่าจะเป็นคนอกตัญญู มองเห็นหน้าผู้มีคุณล้นหัวเป็นผีเป็นสางไป
ครั้นเก็บศพอยู่ได้ครึ่งปีแล้วตามกำหนด คุณอำนาจและภรรยา ร่วมด้วยวงญาติทั้งหลายได้จัดงานศพกันไปเป็นที่เรียบร้อย ในห้องนั้นจึงมีเพียงภาพปั้นยืนตระหง่านอยู่เพียงโดดเดี่ยว เกือบไม่มีใครกล้าเข้าไป เพียงเอาดอกไม้เข้าไปบูชาก็หลายคนด้วยกัน แล้วก็รีบออกไปหมด คงมีแต่คุณอำนาจคนเดียวที่คงเข้าออกเป็นปกติ เคยไปนั่งอ่านหนังสือและนอนหลับเสมอๆ
ต่อมาความผันแปรได้เป็นไปอย่างใหญ่หลวง คือคุณอำนาจล้มป่วย ไม่กี่วันก็รู้ว่าเป็นมะเร็ง ความจริงเป็นมานานแล้วแต่คุณอำนาจใจแข็งไม่ยอมอ่อนแอให้เห็น มะเร็งในท้องที่คุณอำนาจทนทานมานานชักจะมีการอาละวาดขึ้น หมอบอกเด็ดขาดว่าต้องผ่าตัด มิฉะนั้นไม่มีทางจะอยู่ต่อไปได้ คุณอำนาจเป็นผู้รอบคอบ จึงจัดการทำมรดกไว้ให้แก่ภรรยาและลูกหลานทุกคน แต่ในมรดกนั้นมีคำเหมือนจะบังคับสาปแช่งไว้ ถ้าใครรับมรดกไปแล้วได้ทำลายทุกสิ่งที่มีอยู่เก่าเสีย ขอให้ผู้ทำลายทุกคนจงมีอันเป็นไปทันตาเห็น
“นี่แหละครับ มันเรื่องยุ่ง” นายมั่นว่า “เมื่อคุณอำนาจไปผ่าตัดนั้น จะเป็นโดยหมอให้ยาสลบมากไป หรือกำลังคุณอำนาจไม่พอก็ไม่ทราบ เลยผ่าตัดและเย็บท้องเสร็จแล้วไม่ฟื้นขึ้นมาอีก ตายไปเลย เมื่อไปสวดศพกันที่วัดแล้วก็เก็บศพไว้ตามระเบียบ ทีนี้ทางห้องภาพปั้นสิครับ ทั้งคุณนายและพวกลูกๆ ขอร้องไห้ปิดห้องตายเลย ไม่มีธุระร้อนจริงๆ ไม่เปิดเลย”
“แต่ที่บ้านก็กว้างขวางไม่ใช่เรอะ?” คุณนพพูด “เพียงปิดห้องนี้ตาย ก็ยังมีที่อยู่ที่อาศัยอีกมากมายไม่ใช่รึ”
“อย่างนั้นก็ใช่ละครับ แต่มันเดือดร้อนอย่างอื่นอีกครับ” นายมั่นพูดแล้วทำหน้าเมื่อย
“เดือดร้อนยังไงล่ะ?”
“คุณนายนิ่มนวลภรรยาคุณอำนาจเล่าให้ผมฟังว่า ลูกชายกับลูกสาวที่อยู่มหาวิทยาลัย เห็นภาพปั้นนั้นเดินไปที่ท่าน้ำ ออกจากห้องเดินไปด้วยกิริยาแข็งๆ ไปยืนดูฝั่งน้ำอยู่หน่อยแล้วเดินกลับเข้าห้องดังเดิม ลูกชายลูกสาวยืนยันว่าเห็นถนัดตาเลยเพราะแสงไฟยังมีอยู่บ้าง และคืนนั้นก็มีแสงเดือนช่วยนิดหน่อย”
พวกเราที่นั่งฟัง มีครูพยุง ผม และคุณนพ ยังไม่เชื่อลงไปเด็ดขาด เพราะเราไม่ได้เห็นเอง และผู้ที่เห็นก็ยังเป็นเด็กหนุ่มเด็กสาวนัก มีความไม่ชอบและกลัวเป็นทุนอยู่แล้ว ตาอาจจะฝาดไปได้
“แต่ครั้งนี้คุณนายนิ่มนวลเห็นเองเลยครับ แกว่าวันนั้นฝนตกตอนใกล้ค่ำ ตัวแกยืนอยู่ที่หน้าต่างตึกชั้นบน และชั้นล่างก็มีไฟอยู่บ้างแต่ไม่สว่างนัก คุณนายแกเห็นภาพขาวๆ ยืนตากฝนอยู่ที่โคนต้นจันทน์ แกก็เพ่งตามองว่าใครมายืนตากฝน พอฟ้าแลบแปลบเท่านั้น ก็เห็นชัดว่าเป็นภาพปั้นคุณพ่อมายืนอาบน้ำฝนอยู่ และลูกตาของภาพนั้นยังตรงกับตาคุณนายเป๋งเลย”
“เอ๊ะ ก็เอาการแฮะ” ครูพยุง ครูภาษาอังกฤษของผมพูดออกมา “เรื่องอย่างนี้ผมว่ามันเป็นความจริง การตายใหม่ๆ ของใครก็ตาม เขาไม่ปั้นรูปคนคนนั้นให้โตเท่าตัวจริงเลย ถ้าโตเท่ายักษ์หรือไม่ก็เล็กกว่าตัวจริง ยังมองดูว่าเป็นภาพตุ๊กตา ถ้าเท่าตัวจริงมันจะไปกันใหญ่ มันทำให้รู้สึกว่าเป็นผีของคนคนนั้น รูปปั้นอย่างนี้ ถ้าเจ้าตัวยังไม่ตายมองดูแล้วก็น่ารัก แต่ตายลงเมื่อใดก็คล้ายว่าภาพที่เห็นนั้นคือผู้ตายมายืนอยู่ข้างหน้าเรานี่เอง”
“ที่นายมั่นรับปั้นและหล่อภาพนั้นน่ะ ทำอย่างไรล่ะ” คุณนพถาม
“คุณนายแกได้รับคำเตือนมาจากใครไม่รู้ว่าให้ปั้นเสียใหม่ เล็กลงกว่าเก่า และเป็นครึ่งตัว ให้หล่อเป็นทองแดงเลย”
“เมื่อไหร่จะลงมือปั้นล่ะ?”
“ผมไม่ได้ปั้นเองหรอก ผมไปหาช่างปั้นที่คุ้นเคยกัน เล่าเรื่องให้เขาฟังแล้วว่าจ้างเขาปั้น เขาพากันไม่รับปั้นครับ”
“อ้าว ทำไมล่ะ?”
“แปลไม่ออกครับ พวกศิลปินนี่ลำบาก เขาทำอะไรมักตามอารมณ์ พอใจก็ทำไม่พอใจก็ไม่ทำ เขาพูดสั้นๆ ว่าไม่ชอบทำงานอะไรๆ ที่มีความยุ่งยากมาแต่เดิม ชอบทำแต่ที่สบายๆ ใจ เขาว่ายังงี้ล่ะครับ ผมก็เลยหมดปัญญา”
“ก็ปั้นเสียเองก็หมดเรื่อง”
“โอ๋ยโย่!” นายมั่นร้อง “ผมปั้นเองหน้าตาก็เป็นพระพุทธไปหมด ปั้นรูปเหมือนนะไม่เคยเลยครับ ปั้นไม่ได้แน่ๆ”
“ในมรดกที่มีคำสาปแช่งไว้ว่า ไม่ให้เปลี่ยนแปลงอะไรที่มีอยู่ไม่ใช่หรือ?” คุณนพถาม
“ไม่ใช่ครับ ห้ามทำลายเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่ในการสาปแช่ง คุณนายจึงได้ความคิดให้หล่อภาพใหม่มาแทน”
“แล้วภาพเก่าล่ะ?” คุณนพย้อนถาม
“นั่นน่ะซิ! ผมไม่ได้ถามคุณนายแก เห็นแกว่าไม่เกี่ยวอะไรกะผม ความจริงน่ะเรื่องปั้นเรื่องหล่อนี่ก็เถอะ ผมสมัครใจเมื่อไหร่ แต่คุณนายแกยุ่งกะผมจริงๆ เกาะหัวเข่าขอร้องกันเลย ว่าไม่เห็นใครแล้ว แกกลุ้มใจแทบเป็นบ้า ลูกเต้าอยู่ไม่เป็นสุข หวาดกลัวไปตามๆ กัน แกขอให้ผมทำแก้อาถรรพณ์อย่าให้ผิดคำสาปในมรดก ผมก็หมดทาง ไม่รู้จะเอาอะไรไปแนะนำแก ครั้นหลบหน้าไป แกก็ตามไปที่บ้านเรื่อย”
“แล้วจะว่าไงล่ะ?” คุณนพถาม โดยเป็นห่วงในฐานะที่เป็นพวกกัน
“บอกว่าซิครับ รำคาญใจจริงๆ ที่ผมมานี่ก็มาขอหารือกับท่านว่าจะทำอย่างไรดี เอาละสมมติว่าปั้นแล้วและหล่อแล้ว จะทำอย่างไรกับภาพเก่าที่ทุกคนไม่ต้องการ แต่จะให้ผมทำลายน่ะ ไม่เล่นด้วยละครับ”
“บ๊ะ! ไม่น่าเป็นปัญหาโลกแตกเลย” คุณนพว่า
“ผมน่ะอยากจะนิมนต์ท่านไปคุยกับคุณนายสักหน่อยจะดีทีเดียว”
“เอ๊ะ! มันเรื่องอะไรของฉันล่ะ อยู่ๆ สะเออะเข้าไปเฉยๆ”
“เรื่องนี้ผมได้พูดกับคุณนายไว้แล้ว แกว่าจะมาหาคุณที่วัดนี่ จะนัดกันเมื่อไหร่ก็ได้ หรือว่าท่านกับพวกเราจะอยากไปดูภาพนั้นเล่นบ้าง นัดไปที่บ้านก็ได้”
“อ้าว! นี่แอบไปพูดจากับคุณนายเรื่องฉันไว้แล้วเรอะ?”
“ครับ ผมจนท่าจริงๆ คุณนายแกก็จนหนทาง พอพูดเรื่องท่านขึ้นแกก็ดีใจจะขอพึ่งคำแนะนำจากพระขึ้นมาทีเดียว”
“เอ! มันยากนา” คุณนพครางออกมา “การจะไปให้คำแนะนำน่ะ อ้ายการปั้นใหม่หล่อใหม่น่ะมันก็ควรละ ควรอย่างยิ่งทีเดียว จะได้หมดความหวาดกลัวกัน แต่ภาพเก่าล่ะ เมื่อทำลายภาพเก่าไม่ได้ จะไปหล่อใหม่ทำไมให้เสียเงิน”
“นั่นน่ะซี” นายมั่นร้องออกมาอย่างขอไปที ซึ่งไม่มีอะไรจะดีกว่าคำนี้ “ถ้าจะมีทางเลี่ยงกันก็มีทางเดียว อัญเชิญภาพเก่าไปอยู่วัดเลย ประดิษฐานไว้เลย” นายมั่นออกความเห็น
“โอ๊ะ! แต่คงไม่ใช่วัดนี้นะ” คุณนพร้องขึ้น พวกเราเลยฮากันครืน นายมั่นเองก็อดหัวเราะไม่ได้
“มันมีปัญหาอยู่นะ อะไรๆ ก็เข้าวัดทั้งนั้นน่ะไม่ใช่ทำง่ายๆ มันมีอยู่ว่าผู้เป็นเจ้าภาพน่ะ มีคุณอะไรแก่วัดจึงจะเอาภาพมาตั้ง สร้างวัดเรอะ ถ้าไม่มีอะไรเลยสักอย่างก็ต้องซื้อที่เขาเพื่อจะตั้งภาพ อยู่ๆ จะเอาเข้าวัด วัดไหนล่ะจะยอม อ้ายของที่ดีไม่เอาเข้าวัด อ้ายของไม่ต้องการแล้วจะเอามาทิ้งในวัดมันดูกะไรอยู่ เอาหมามาปล่อยงี้ แมวมาปล่อยงี้ นี่จะเอาภาพผีสิงเข้าปล่อยอีกละ” คุณนพพูดอย่างขบขันเลยหัวเราะกันครื้นเครง
อ่านต่อ – ภาพปั้นเป็นเหตุ ตอนที่ ๒ (จบ)